จากวิถีสู้ชีวิตของเด็กบ้านนอกคอกนา ฐานะยากจน แต่เติบใหญ่เป็นนายคนด้วยวัยเพียง 47 ปี และใช้เวลาในการต่อสู้บนเส้นทางสายเส้น จนผงาดขึ้นมาอยู่แถวหน้าของแฟรนไชส์ระดับประเทศ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ภายใต้แบรนด์ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" ชื่อที่เชื่อได้ว่าเมื่อเอ่ยปากร้อยทั้งร้อยเป็นต้องได้รู้จัก
นิตยสารเส้นทางเศรษฐี หนังสือในเครือมติชน ที่มีคุณทวี มีเงิน เป็นบรรณาธิการบริหาร ได้พาผู้อ่านทุกผู้ทุกวัยร่วมกันไขปริศนา "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" แฟรนไชส์ที่คนส่วนมากเคยลิ้มลอง และมีไม่น้อยที่ฝากท้องไว้เป็นประจำ
จากวิถีสู้ชีวิตของเด็กบ้านนอกคอกนา ฐานะยากจน แต่เติบใหญ่เป็นนายคนด้วยวัยเพียง 47 ปี และใช้เวลาในการต่อสู้บนเส้นทางสายเส้น จนผงาดขึ้นมาอยู่แถวหน้าของแฟรนไชส์ระดับประเทศ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ภายใต้แบรนด์ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" ชื่อที่เชื่อได้ว่าเมื่อเอ่ยปากร้อยทั้งร้อยเป็นต้องได้รู้จัก
วันนี้ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" มีสาขาทั่วประเทศและต่างประเทศมากกว่า 2,000 สาขา สร้างเอกลักษณ์บนความแตกต่าง ใฝ่เรียนสร้างโอกาสให้ตนเอง
ชายร่างเล็ก อัธยาศัยดี มีรอยยิ้มและน้ำเสียงที่พูดคุยเป็นกันเอง เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงตัวตนที่แท้จริง ว่า เขาไม่ได้เป็นคนหยิบหย่ง แต่มีความตั้งใจจริงในการทำงานและค้นหาความแตกต่างบนทางที่หลายคนเลือกเดิน เพื่อให้ความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับเขา
"พันธ์รบ กำลา" เป็นชื่อของเจ้าของแบรนด์ที่เอ่ยถึง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ต่อเมื่อสบโอกาสคลายข้อสงสัยถึงที่มาของแฟรนไชส์ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" อันคุ้นชื่อ จึงไม่ยอมปล่อยโอกาสทิ้งไป
คุณพันธ์รบเป็นชาวอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด แดนดินถิ่นอีสาน มีโอกาสร่ำเรียนเพียงชั้นประถม 4 ตามประสาครอบครัวที่มีลูกมาก ยิ่งคุณพันธ์รบเองเป็นพี่ชายคนโต มีน้องชาย 3 คนและน้องสาวอีก 1 คน ทำให้ความก้าวหน้าทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องใฝ่รู้ด้วยตนเอง ฐานะทางครอบครัวไม่สามารถยัดเยียดให้ได้ ประกอบกับความคิดในวัยเด็กที่เห็นหนุ่มสาวกลับบ้านยามว่างจากงานในกรุงเทพฯ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยงาม ใบหน้าผุดผ่อง ยิ่งทำให้คุณพันธ์รบฮึกเหิมตั้งใจมุ่งหน้าหางานทำในกรุงเทพฯ ให้ได้
"ออกจากเรียนอายุ 12 ปี เข้ากรุงเทพฯ ไปทำงาน เพราะเห็นคนไปกรุงเทพฯ กลับมาแล้วสวยหล่อ ผมไปครั้งแรกไปทำงานโรงงานผลิตน็อต เกลียว สกรู กินข้าวด้วยตะเกียบไม่เป็น ทำได้ไม่นานก็กลับบ้าน แต่ไม่นานก็กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีก และครั้งนี้ก็เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว"
คุณพันธ์รบเรียกแทนตัวเองว่า "ผม" ทุกคำ และแสดงความเป็นกันเองกับผู้ฟัง ทั้งยังเล่าประสบการณ์ชีวิตก่อนเป็น ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ด้วยมุมมองของนักคิดที่เขาเองพยายามสร้างเอกลักษณ์ให้ออกมาในรูปของการ ปฏิบัติที่ทำได้จริงและเกิดประโยชน์
เพราะความใฝ่รู้ที่คุณพันธ์รบมีอยู่ในตัว ระหว่างที่กลับมาทำงานในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 คุณพันธ์รบถูกน้าพาไปทำงานบ้านกับเถ้าแก่รายหนึ่ง เพราะเห็นแววความมีระเบียบเรียบร้อยของคุณพันธ์รบ ประจวบเหมาะที่ได้เถ้าแก่ใจดี เปิดโอกาสให้ใช้เวลาในช่วงค่ำเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการทดลองเปิดให้การศึกษารูปแบบนี้ในปีแรก กระทั่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเวลาไม่นาน
เอาสมองไปขาย จุดประกายนักธุรกิจ ชีวิตคุณพันธ์รบผันผวนจากคนทำงานบ้าน ไปเป็นคนงานผลิตของใช้ในครัวเรือน แต่ได้เพียงระยะหนึ่ง ต้องกลับไปรับใช้ชาติตามหมายเกณฑ์ทหารของวัยหนุ่ม "ใบแดง" เป็นสีที่คุณพันธ์รบจับได้และต้องเข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างนั้นเองถือว่าเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทำให้คุณพันธ์รบมีเงินเก็บ เป็นเงินก้อน จนคุณพันธ์รบบอกว่า "วิญญาณความเป็นนักธุรกิจของผมเริ่มจากตรงนั้น"
"ผมเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน เป็นคนเรียบร้อย มัธยัสถ์ วางแผน ชอบคิด เมื่อเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้ก็มีเงิน เงินเดือนทหารสมัยก่อนเดือนละ 300 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 8 บาท ทั้งเดือนผมเหลือเต็ม 540 บาท เพราะกินฟรี เสื้อผ้าฟรี พอมีคนรู้ว่าผมมีเงินเก็บก็มาขอยืม ผมให้ยืมนะแต่ให้เงินไป 80 บาท ต้องคืน 100 บาท ทุก 10 วันต้องนำเงินมาคืนครบ เท่ากับ 1 เดือนผมมีเงินหมุน 3 ครั้ง ทำให้ช่วงที่เป็นทหารเกณฑ์มีเงินเก็บ 40,000-50,000 บาท เงินจำนวนนี้ในปี 2527 ถือว่าเยอะ และวิญญาณความเป็นนักธุรกิจของผมเริ่มจากตรงนั้น"
ชีวิตหลังมีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำ คุณพันธ์รบยังไม่มีแววต่อยอดเป็นนักธุรกิจอย่างคนมีวิญญาณ คงรับจ้างไถนาได้ค่าแรงเป็นเงิน 80 บาท ต่อไร่ ชีวิตวนเวียนอยู่ไม่นานนัก คุณพันธ์รบตัดสินใจพาครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ และสมัครเป็นลูกจ้างขายไอติม ประสบการณ์ส่วนนี้คุณพันธ์รบถ่ายทอดได้อย่างถึงกึ๋น
ขายไอติม คุณพันธ์รบ บอกว่า เขาทำยอดขายสูงสุดจากคนขายไอติมทั้งหมด 30 คน จัดว่าเป็นมือทองและมือโปรของบริษัท มีคนสงสัย เขาเฉลยเทคนิคให้ฟังตามนี้
"เราต้องเอาสมองไปขาย" คุณพันธ์รบ บอก "ผมวางแผน เข้าซอยนี้ต้องขายแบบนี้ เช่น คนสวยมาซื้อลดราคาลงหน่อย ซอยนี้ตันแต่เด็กเยอะ เราต้องวกกลับมาที่เดิม ขาเข้าต้องไปเร็ว ขากลับต้องช้า ที่ต้องทำอย่างนั้นเป็นการเตือนขาเข้าว่า ให้ไปขอเงินพ่อแม่ ขากลับช้า รอให้เขาไปเอาเงินมาซื้อ ถ้าพ่อแม่ทำยึกยักไม่ควักเงินจะให้เราไปก่อน ต้องแกล้งทำเป็นรถเสียรอ ส่วนซอยไหนเป็นเวทีศูนย์รวมความบันเทิงของหนุ่มสาว วิธีที่ได้ผลดีที่สุด คือ รถเสีย เสียใกล้ๆ หนุ่มสาว เมื่อรำคาญที่เราขัดจังหวะก็ต้องควักเงินออกมาซื้อเพื่อให้เราไปที่อื่น"
ชีวิตเปลี่ยน เมื่อน้องชายชวนขายก๋วยเตี๋ยว คุณพันธ์รบ เล่าให้ฟังว่า น้องชายของคุณพันธ์รบมีอาชีพขับรถส่งลูกชิ้นโกฮับ ได้เงินเป็นเปอร์เซ็นต์จากการส่งลูกชิ้น ขายมากก็ได้เงินเปอร์เซ็นต์มาก น้องชายคนนี้มาบอกกับเขาว่า อาชีพทำนาและขายไอติมไม่เหมาะกับพี่ ก่อนชักชวนให้ไปขายลูกชิ้นด้วยกัน เพราะเชื่อน้อง คุณพันธ์รบจึงผันตัวเองจากพ่อค้าไอติมเป็นพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยว รับลูกชิ้นจากน้องชายมาใส่ก๋วยเตี๋ยว ราคาชามละ 10-15 บาท ตั้งรถเข็นแถวแยกลำลูกกา และขายดีจนยอดขายต่อคืน 7,000 บาท บวกรวมเป็นยอดขายต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 บาท ตั้งร้านตั้งแต่เที่ยงวัน เก็บร้านเมื่อก้าวสู่วันใหม่ในเวลา 03.00 น. ของทุกวัน พ่อค้าแม่ขายร้านใกล้เคียงให้ฉายาคุณพันธ์รบ ว่า "มนุษย์เหล็ก" เพราะไม่มีวันไหนที่คุณพันธ์รบหยุดขาย และบอกวิธีเรียกลูกค้าด้วยใจ ว่า ทำเลมีส่วน แต่ที่สำคัญต้องสะอาด รู้จักการเทกแคร์ การพูดจา รสชาติ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าทุกคนต้องการ เมื่อเรามีลูกค้าก็เข้าหา
ซื้อเครื่อง - ศึกษาทำบะหมี่ ลูกค้าคือผู้ตอบโจทย์ เมื่อรายได้ดีไม่เป็นรองใคร คุณพันธ์รบหมั่นเก็บหอมรอมริบ มีเงินจำนวนหนึ่งที่มากพอ ต่อเมื่อได้พูดคุยกับน้องชายคนที่ 4 ซึ่งขายบะหมี่เกี๊ยวยี่ห้อดัง บริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต ใกล้ตลาดสี่มุมเมือง น้องชายบอกกับคุณพันธ์รบว่า กำไรต่อคืนที่น้องชายเก็บเข้ากระเป๋าอยู่ที่ 1,000 บาท ส่วนคุณพันธ์รบเมื่อทบทวนดูยอดขาย หักลบต้นทุนทั้งหมดแล้วเหลือกำไรเข้ากระเป๋าเพียง 500 บาท จึงรู้สึกถึงความเป็นพี่ชายที่ไม่ควรมีรายได้น้อยไปกว่าน้อง แว่บแรกของความคิดขณะนั้น คุณพันธ์รบบอกว่า พี่อยากขายบะหมี่เกี๊ยว จะต้องทำอย่างไร น้องชายจึงแนะนำให้ไปพบเจ้าของโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ ตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 35
"ผมเข้าไปคุยกับเถ้าแก่ อยากได้บะหมี่ไปขายครับ แต่เถ้าแก่บอกว่า ไม่ได้ เหตุผลเพราะรถส่งบะหมี่ของโรงงานไม่ผ่านร้านที่ผมตั้งขาย"
คุณพันธ์รบเปลี่ยนน้ำเสียงเมื่อเล่าถึงตรงนี้ โดยย้ำว่า "ต้องขอขอบคุณ เถ้าแก่ เพราะคำพูดประโยคนี้เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่ทำให้ผมเป็น ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ทุกวันนี้ มันทำให้ผมคิดว่า ถ้าผมมีโอกาสทำขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมจะทำส่งให้ทั่วประเทศไทย"
เพราะความมีไหวพริบปฏิภาณของคุณพันธ์รบ เขาไม่ย่อท้อ แต่เลือกให้น้องชายซึ่งขายบะหมี่เกี๊ยวอยู่ก่อน สั่งบะหมี่เกี๊ยวเพิ่มจำนวนขายมากเป็น 2 เท่า และยอมขับรถไปรับบะหมี่เกี๊ยวจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาขายเอง บริเวณแยกลำลูกกา ทำให้เมนูของร้านเพิ่มขึ้นจากก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส เป็นเมนูบะหมี่เกี๊ยว และข้าวมันไก่ อีก 2 รายการ เมนูเพียง 3 อย่าง สร้างกำไรให้กับคุณพันธ์รบ คืนละ 3,000 บาท ต่อวัน ไม่นานนักคุณพันธ์รบมีเงินเก็บสูงถึง 700,000 บาท
เลือดนักธุรกิจที่แฝงอยู่ในตัวคุณพันธ์รบแสดงออกมาเมื่อคุณพันธ์รบรู้สึก มั่นใจในความตั้งใจและมันสมองของตนเอง ความคิด "ถ้ามีโอกาสทำเส้นบะหมี่จะทำให้ดีที่สุด" เพราะทุกวันที่รับเส้นบะหมี่มาขาย ยังมีอีกหลายวันที่เส้นบะหมี่ไม่เหลือง ขาดลุ่ย ไม่เหนียว ไม่นุ่ม ซึ่งเป็นปัญหาของพ่อค้าแม่ขายที่ไม่ใช่ผู้ผลิต และตรงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้คุณพันธ์รบตัดสินใจศึกษาเรื่องการทำเส้นบะหมี่ อย่างจริงจัง สอบถามคนส่งเส้นบะหมี่ถึงแหล่งซื้อเครื่องทำเส้นบะหมี่ เมื่อทราบจึงตัดสินใจควักเงินลงทุนซื้อเครื่องตัวแรกในราคา 20,000 บาท แต่เพราะยังไม่มีความรู้ด้านการผลิตอย่างจริงจัง จึงตัดสินใจอีกครั้งในการจ้างคนทำบะหมี่เป็นมาสอนให้ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งที่ได้รับกลับมาคือการถูกหลอก ไม่มีใครสอนให้รู้อย่างจริงจัง
"ผมเริ่มเก็บข้อมูลเอง ศึกษาหาความรู้เอง ทำไปเอามาขายไป ให้ลูกค้าทดลองกิน คอยถามลูกค้าเส้นเหนียวดีหรือเปล่า นุ่มหรือไม่ อย่างไร พยายามปรับสูตรให้ลงตัวจนได้เส้นบะหมี่สูตรชายสี่บะหมี่เกี๊ยว หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี"
เคล็ดลับตัวตนคนพันธ์รบ แบรนด์ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" 1 ปีแรกของการทำบะหมี่เองและขายก๋วยเตี๋ยว บะหมี่เกี๊ยว ข้าวมันไก่ คุณพันธ์รบมีเงินเก็บ 200,000 บาท เขาตัดสินใจซื้อรถและขับกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นที่ฮือฮาว่าร่ำรวย ทุกครั้งที่มีคนถามว่าไปทำอะไรมาถึงรวย คุณพันธ์รบจะตอบว่า "ขายบะหมี่" จนเป็นที่มาของการบอกต่อ และเชื่อว่า ขายบะหมี่แล้วจะรวย ทำให้คนใกล้ชิดในละแวกหมู่บ้านและคนที่บอกต่อกันไปเข้ามาหาและสั่งบะหมี่จาก คุณพันธ์รบไปขาย
นักธุรกิจไม่ได้จบแค่ผลิตและขาย แต่นักธุรกิจต้นตำรับแบรนด์ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว อย่างคุณพันธ์รบ บริการหาทำเล บ้านเช่า สอนวิธีอบหมูแดง วิธีลวกบะหมี่ วิธีการจ่ายตลาด ซึ่งคนที่สั่งบะหมี่จากคุณพันธ์รบไปขาย มีลูกค้าเข้าร้านมียอดขายไม่ต่างจากคุณพันธ์รบ การบอกต่อเริ่มต้นขึ้น ทำให้บะหมี่ของคุณพันธ์รบถูกส่งไปขายในหลายที่หลายแห่งของหลายจังหวัด
ความคิดมีแบรนด์เป็นของตนเองจึงเริ่มขึ้น เป็นที่มาของปริศนาคำว่า "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว"
คุณพันธ์รบ เล่าติดตลกว่า "ตั้งขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจสื่อความหมายอะไร เพราะตอนคิดต้องการให้คนเห็นแล้วสะดุดตา จดจำชื่อได้ดี เมื่อคำนวณจากป้ายรถเข็นแล้วเห็นว่าชื่อไม่ควรเกิน 4 พยางค์ ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านนิยายจีน จึงคิดชื่อไว้หลายชื่อ ตั้งแต่ ปักกิ่ง ป๊ะป๋า ราชินี และสุดท้ายมาจบที่ "ชายสี่" เพราะสอดคล้องกับคำว่า "บะหมี่เกี๊ยว" มากที่สุด ไม่ได้คิดให้สอดคล้องกับพี่น้องผู้ชาย 4 คนที่มีอยู่แม้แต่น้อย แต่ที่หลายคนเข้าใจเช่นนั้น คุณพันธ์รบให้คำตอบว่า เพราะมีคนถามคนขายแถวบ้าน คนแถวบ้านตอบไปว่า เพราะบ้านผมมีลูกชาย 4 คน ซึ่งประจวบเหมาะกันพอดี
คุณพันธ์รบ เผยสิ่งที่ติดตัวมาโดยตลอดแบบไม่ต้องท่องจำ คือ ความใฝ่รู้ที่เขาเองรู้ตัวตลอดมาว่า ชอบอ่านหนังสือ เมื่ออ่านจบและจดบันทึกและโน้ตย่อไว้ สำหรับการอ่านใหม่อีกครั้ง หรือแม้กระทั่งเดี๋ยวนี้เขาเพิ่มจากการอ่านใหม่อีกครั้ง เป็นการอ่านลงแผ่นซีดี เพื่อนำมาเปิดฟังได้จำนวนครั้งเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น หนังสือประวัติชีวิตของ "ตัน โออิชิ" คุณพันธ์รบอ่านจบสามารถโน้ตย่อได้เหลือเพียง 4 หน้า ซึ่งทุกครั้งของการเดินทางทำธุรกิจ หากอ่านหนังสือได้ครบเล่มต่อครั้งของการเดินทาง จัดว่าเป็น "กำไร" สำหรับเขาแล้ว
อ่านถึงตรงนี้อาจอยากทราบว่า คุณพันธ์รบ ภูมิใจในแบรนด์ ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว แค่ไหน คุณพันธ์รบตอบอย่างมั่นใจว่า ภูมิใจแต่น้อยกว่าบางเรื่อง สิ่งนั่นคือ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเด็กผู้ชายเรียนน้อยเพียงประถม 4 ไม่มีโอกาสจับเครื่องคอมพิวเตอร์ในระหว่างการเรียนแม้แต่ชั้นเดียว
แต่เมื่อเป็น ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว คุณพันธ์รบ ย่อมต้องถ่ายทอดและอบรมคุณสมบัติหลายอย่างให้กับพนักงานผ่านเครื่องฉายแผ่นใส ซึ่งคุณพันธ์รบหงุดหงิดกับการเขียนและลบของวิธีนี้ จึงพยายามหัดโปรแกรม "พาวเวอร์พอยต์" และหัดพิมพ์ที่แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ และเขาแสดงตัวตนให้เห็นชัด เมื่อคุณพันธ์รบเผยวิธีการจำตัวอักษรบนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด โดยยกตัวอย่างหนึ่งให้เห็นชัด ในแป้นพิมพ์แถวที่ 4 จากล่าง เมื่อวางมือขวาลงบนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด จะมีตัวอักษร "ร-น-ย-บ-ล" เรียงกัน คุณพันธ์รบมีวิธีจำตามแบบฉบับของเขา โดยนึกถึงความรักที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง ซึ่งเปรียบเสมือนหมามองเครื่องบิน แล้วอยากให้เครื่องบินลดต่ำลงมาถึงพื้น "ร-น-ย-บ-ล" จึงจำว่า "รักน้องอยากบินลง" เพียงเท่านี้การจำและการพิมพ์ก็ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องกางตำรา
นี่แหละตัวตนและที่มาของ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ