ใครจะไปเชื่อว่านมเปรี้ยวอย่างโยเกิร์ตจะสามารถพลิกชีวิตคนธรรมดาอย่าง ฮัมดี อูลูคายา ให้กลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่แห่งปี 2013 ของประเทศตุรกี ลำดับที่ 36 ด้วยทรัพย์สินกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เส้นทางสู่ความสำเร็จของ ฮัมดี ฮูลูคายา เจ้าของธุรกิจโยเกิร์ตสำเร็จรูปยี่ห้อ CHOBANI แห่งตุรกี เป็นมาอย่างไรขอเชิญติดตามอ่านกันได้เลยครับ
ย้อนหลังกลับไปในปี 1994 อูลาคูยา ตัดสินใจเดินทางจากตุรกีบ้านเกิดเพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบหลักสูตรด้านภาษาแล้วเขาจึงได้ถือโอกาสเรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีกด้วย เพราะตัว อูลูคายา เองตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ที่มีสินค้าส่งให้กับบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในอเมริกา ซึ่งตอนนั้นเอง อูลูคายา ก็ได้ความคิดจากธุรกิจของตระกูลที่ทำกันในประเทศตุรกี นั่นก็คืออาชีพขายนมและชีส ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ทำให้เขาตัดสินใจนำธุรกิจของครอบครัวที่ตัวเองมีความถนัดมาต่อยอดสร้างฝันให้กับตัวเองในดินแดนประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยหัวทางด้านธุรกิจทำให้ อูลูคายา คิดว่าหากจะขายแต่นมและชีสเพียงแค่นี้ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ เนื่องจากคู่แข่งขันมีจำนวนมาก ดังนั้นเขาจึงได้ตัดสินใจผลิตสินค้าตัวใหม่ขึ้นมาอีกอย่างนั่นก็คือโยเกิร์ต อาหารง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานกัน เขาจึงได้ทดลองชิมโยเกิร์ตทุกชนิดที่วางขายในสหรัฐ และพบว่าโยเกิร์ตเหล่านั้นยังไม่อร่อยโดนใจพอ เขาจึงค้นคิดสูตรใหม่ด้วยตนเองโดยใช้เวลาเกือบปีครึ่งจึงต้นพบสูตรโยเกิร์ตสไตล์กรีกขึ้นมา และตอนนั้นก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่บริษัท Kraft ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโยเกิร์ตอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ได้ประกาศขายกิจการ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองบวกกับความคิดที่ว่าโยเกิร์ตสไตล์กรีกของเขาจะต้องติดตลาดเป็นที่นิยมของผู้คนอย่างแน่นอน ทำให้ อูลูคายา ตัดสินใจซื้อโรงงานแห่งนี้ และเดินหน้าผลิตโยเกิร์ตสไตล์กรีกยี่ห้อ CHOBANI ขึ้นมาตีตลาดวงการโยเกิร์ตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น CHOBANI ก็ได้ความนิยมจากผู้คนทุกชนชั้น ทำให้บรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งติดต่อขอนำสินค้ามาวางจำหน่ายในห้างของตน ซึ่งภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียวโยเกิร์ตยี่ห้อ CHOBANI สามารถสร้างผลกำไรได้ถึง 200% ด้วยรายได้มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังครองแชมป์โยเกิร์ตที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
อูลาคายา กล่าวว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องยาก กลยุทธ์ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องปกติที่คนทำธุรกิจทั่วๆ ไปก็รู้ด้วยกันทั้งนั้น ตัวเขาเองก็เป็นเพียงแค่นักธุรกิจธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าคนอื่น สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จจริงๆ นั้นคงมาจากคุณภาพของตัวสินค้าเองมากกว่า อูลูคายายังกล่างทิ้งท้ายอีกว่าหากคุณใส่ใจในสินค้าและคุณภาพตลอดจนเข้าใจในหัวอกผู้บริโภคแล้วก็ไม่ต้องกลัวคำว่า “ขาดทุน” ครับ
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ M2F ฉบับวันอังคารที่ 9 เมษายน 2556